“ไซยาไนด์”
เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงจะได้ยินจากข่าวอยู่แล้วใช่ไหมล่ะครับ ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วยนะครับ บอกได้เลยครับว่าเป็นข่าวที่สะเทือนจิตใจใครหลายๆ ท่านพอสมควรเลย และสำหรับความอันตรายของยาชื่อนี้ รวมไปถึงรูปแบบของยา และหากสัมผัสควรรับมืออย่างไรมาดูกันเลยครับ
ไซยาไนด์ สารเคมีอันตราย
สำหรับ ไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่อันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าสู่ร่างกายไปแล้วจะทำการยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีพันธะคาร์บอนไนโตรเจน (CN) ที่มักนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ รวมถึงอาหาร สารเคมีตัวนี้สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิดอย่างเช่น อัลมอนด์ แอปเปิล และยังเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ อย่างไรก็ตามสารเคมีตัวนี้จะมีปริมาณที่พบเล็กน้อยในพืชและกระบวนการเผาผลาญโดยไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตนะครับ
รูปแบบไหนอันตรายต่อชีวิต?
สารเคมีชนิดนี้มีรูปแบบที่หลากหลายทั้งในรูปแบบของแข็ง ของเหลว และแก๊ส โดยในแต่ละชนิดนั้นจะมีแหล่งที่มารวมถึงคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปดังนี้
- Sodium cyanide (NaCN)
รูปแบบนี้จะเป็นของแข็งที่มีสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบที่ผลึก แท่ง หรือผงครับ โดยพบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสบริเวณปากแผล การสูดดม หากรับประทานเข้าไปอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยครับ
- Potassium cyanide (KCN)
มีลักษณะเป็นก้อนผลึกหรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสแบบไม่มีสี กลิ่นจะคล้ายกับอัลมอนด์ มักจะนำมาใช้ในการสกัดแร่อย่างเช่น ทองหรือเงิน และยังพบได้ในยาฆ่าแมลง เมื่อสารเคมีรูปแบบนี้จะเจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ หากได้เข้าสู่ร่างกายแล้วอาจไปรบกวนการทำงานของอวัยวะภายในจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- Hydrogen cyanide (HCN)
มักมาในรูปแบบของเหลวหรือแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อมีการสูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมไปถึงยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนัง และดวงตาครับ
- Cyanogen chloride (CNCI)
รูปแบบนี้จะมีลักษณะเป็นของเหลวหรือแก๊สที่ไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ ทำให้เกิดการระคายเคืองเมื่อมีการสูดดมเข้าไปนั่นเองครับ
ความอันตรายของ ไซยาไนด์
เมื่อสารเคมีตัวนี้เข้าไปสู่ร่างกายแล้วจะทำให้เกิดอาการดังนี้
- ระคายเคืองบริเวณที่สัมผัสอย่างผิวหนังหรือดวงตา
- ร่างกายอ่อนแรง
- เวียนศีรษะ
- คลื่นไส้
- หายใจติดขัด
- หมดสติ
- หัวใจหยุดเต้น
โดยความรุนแรงของอาการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมีว่ามีปริมาณ และระยะเวลาในการได้รับเท่าไหร่
ผลกระทบจากการรับสารเคมี แบ่งได้ 2 ประเภท
ภาวะเป็นพิษแบบเฉียบพลัน
เป็นอาการที่พบได้ยากมากๆ โดยเกิดขึ้นได้ทันที สำหรับอาการอย่างเช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น
ภาวะเป็นพิษแบบเรื้อรัง
เกิดจากการได้รับในปริมาณที่เล็กน้อยแต่ได้รับอย่างต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาการเบื้องต้นอย่างเช่น ปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นแดง นอกจากนี้ยังมีอาการที่ตามมาอีกคือ รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นหรือเต้นผิดปกติได้ ผิวหนังบริเวณใบหน้า และแขนขากลายเป็นสีม่วง โคม่า และเสียชีวิตในที่สุดครับ
รับมืออย่างไรหากสัมผัส
สารเคมีชนิดนี้เป็นสารที่อันตราย หากสัมผัสกับสารเคมีนี้จะต้องรีบทำการลดหรือหาวิธีแก้ไขอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ปริมาณสารลดลงให้ได้มากที่สุด สำหรับวิธีการรับมือมีดังนี้
- การสัมผัสทางผิวหนัง ถ้าหากร่างกายได้สัมผัสกับสารเคมีตัวนี้ ให้ทำการถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อออกเป็นชิ้นๆ เลยนะครับ และนำออกจากลำตัว โดยเสื้อผ้าที่มีการปนเปื้อนนั้นจะต้องไม่โดนผิวหนังเราเพิ่มเติมหรือไปสัมผัสผิวหนังในส่วนอื่นๆ อย่าง ศีรษะ และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าของเราโดยตรง เพราะอาจทำให้คนๆ นั้นได้รับสารเคมีตัวนี้ไปด้วย และหลังจากที่นำเสื้อผ้าออกไปแล้วให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่ เพื่อเป็นการลดปริมาณสารเคมี แล้วจึงรีบไปโรงพยาบาลนะครับ
- การสูดดมและรับประทาน หากมีการสูดดมอากาศที่มีสารเคมีตัวนี้ปนเปื้อนอยู่ ควรนำตัวเองออกจากพื้นที่บริเวณนั้นๆ โดยเร็ว แต่ถ้าหากไม่สามารถออกมาจากสถานที่นั้นได้ให้ทำการก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่หายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบนำตัวไปส่งโรงพยาบาลครับ
ข้อห้าม : ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอด เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมี
- การสัมผัสทางดวงตา เมื่อสัมผัสโดนดวงตาให้รีบถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก หลังจากนั้นให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลา 10 นาที และนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรับการตรวจ
หลีกเลี่ยงการสัมผัส?
การหลีกเลี่ยงหรือการลดโอกาสที่จะได้รับสารเคมีตัวนี้ มีดังนี้
- งดสูบบุหรี่
- เก็บภาชนะที่บรรจุสารเคมีภายในบ้านให้มิดชิดและเหมาะสม
- ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ควรใช้ภาชนะรองรับสารเคมีที่มีขนาดเล็กที่สุด อาจจะช่วยให้ได้รับสารเคมีน้อยลง รวมถึงลดโอกาสที่จะสัมผัส และการสูดดมลดลงอีกด้วย
- ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ไม่ควรนำเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่อาจจะมีสารปนเปื้อนออกนอกสถานที่ทำงานหรือการนำกลับบ้าน
- ติดตั้งเครื่องดับจับควัน เนื่องจากสารเคมีอาจมาในรูปแบบของควันได้ครับ
- สวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำงานกับสารเคมีหรือต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมี
- ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษสูงอย่างเช่น เกษตรกร ช่างเหล็ก ช่างทอง พลังงานที่อยู่ในกระบวนการผลิตกระดาษ สิ่งทอ ยาง และพลาสติก ผู้ที่ทำงานกำจัดแมลง เป็นต้น แนะนำให้ไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : unitedhonda
cr. : https://unitedhonda.com/